ฎีกาที่ 8452/2551
ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2526 ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1218 และ 1219 พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับผู้ขายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2536 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2536 จึงมีการจดทะเบียนซื้อขายโดยระบุชื่อผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง วันที่ 14 มกราคม 2540 ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1218 และ 1219 พร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ดินและบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ผู้เดียวหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและเป็นผู้ผ่อนชำระราคาที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมด ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องแต่ผู้เดียวนั้น เห็นว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านพิพาทจากผู้ขายใน
ระหว่างสมรส ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรส ย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) ที่ผู้ร้องฎีกาต่อมาว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2540 โดยมีการตกลงแบ่งทรัพย์สินกันตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ให้ที่ดินและบ้านพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ มิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1533 บัญญัติว่า “เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน” เมื่อข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบไม่ปรากฏว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินและบ้านพิพาทอันเป็นสินสมรสกันแล้ว กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกันหาใช่ทรัพย์สินของผู้ร้องแต่ผู้เดียวไม่ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว
ปล.ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่สามีภริยายังจดทะเบียนสมรสกันอยู่ และไม่ว่าจะมีชื่อสามีหรือภริยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ให้ถือว่าเป็น "สินสมรส" หากสามีภริยาหย่าขาดจากการสมรสก็ให้แบ่งส่วนทรัพย์สินเท่ากัน
ปัญหาที่คู่สมรสเลิกลากันโดยไม่ยอมหย่าขาดจากกันมีให้พบเห็นอยู่บ่อยๆ ฉะนั้นหลายคู่ที่ไปสมรสใหม่โดยยังมิได้จดทะเบียนหย่าจึงมีปัญหาฟ้องร้องกันค่อนข้างมาก ฎีกานี้จึงเป็นตัวอย่างให้ผู้ที่ประสบปัญหาได้ศึกษากัน
ตอบลบ