ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ภาค ๓
อุทธรณ์และฎีกา

ลักษณะ ๑
อุทธรณ์

     มาตรา ๒๒๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๓๘, ๑๖๘, ๑๘๘ และ ๒๒๒และในลักษณะนี้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๒๒๓ ทวิ ในกรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ผู้อุทธรณ์อาจขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษา
หรือคำสั่งได้สั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาคำ ฟ้องอุทธรณ์และคำร้องแก่จำเลยอุทธรณ์แล้ว หากไม่มีคู่ความอื่นยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๓ และจำเลยอุทธรณ์มิได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวต่อศาลภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้ อุทธรณ์และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ให้สั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้มิฉะนั้นให้สั่ง ยกคำร้อง ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ให้ถือว่าอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ตามมาตรา ๒๒๓ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตหรือยกคำร้องในกรณีนี้ให้เป็นที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องเพราะเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหา ข้อเท็จจริงผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกาภายในกำหนดสิบ ห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง
     ถ้าศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ตามวิธีการในวรรคหนึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงให้ศาลฎีกาส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป
     มาตรา ๒๒๔ ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
     บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือ สิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงิน ได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกิน เดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
     การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้น พร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง
     มาตรา ๒๒๕ ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้นคู่ ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมา แล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย
     ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้น อุทธรณ์ คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้
     มาตรา ๒๒๖ ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘
     (๑) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
     (๒) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำ สั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป
     เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอก จากที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
     มาตรา ๒๒๗ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
     มาตรา ๒๒๘ ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
     (๑) ให้กักขัง หรือปรับไหม หรือจำขัง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายนี้
     (๒) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป หรือ
     (๓) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ
     คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป
     แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์ หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น
     ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา ๒๒๓
     มาตรา ๒๒๙ การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษา หรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์ (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น) ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓๕ และ ๒๓๖
     มาตรา ๒๓๐ คดีตามมาตรา ๒๒๔ ถ้าคู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ให้ศาลชั้นต้นตรวจเสียก่อนว่าฟ้องอุทธรณ์นั้นจะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่
     ถ้าผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาคดีนั้นมีความเห็นแย้ง หรือได้รับรองไว้แล้ว หรือรับรองในเวลาที่ตรวจอุทธรณ์นั้นว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ ก็ให้ศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว
     ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่กล่าวแล้ว ในกรณีเช่นนี้ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคมิได้เป็นคณะในคำสั่งนั้น ผู้อุทธรณ์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคภายในเจ็ดวัน เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค เพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลนั้นคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษา หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค เช่นว่านี้ ให้เป็นที่สุด
     บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ไม่ห้ามศาลในอันที่จะมีคำสั่งตามมาตรา ๒๓๒ ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ในเหตุอื่น หรือในอันที่ศาลจะมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์นั้นไปเท่าที่เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
     มาตรา ๒๓๑ การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนพิพากษา โดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้
     คำขอเช่นว่านั้น ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้นได้จนถึงเวลาที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ถ้าภายหลังศาลได้มีคำสั่งเช่นว่านี้แล้ว ให้ยื่นตรงต่อศาลอุทธรณ์ ถ้าได้ยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นก็ให้ศาลรีบส่งคำขอนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินอย่างยิ่ง เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำขอไว้ ก็ให้มีอำนาจทำคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้รอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ ในคำขอเช่นว่านั้น
     ถ้าผู้อุทธรณ์วางเงินต่อศาลชั้นต้นเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี หรือได้หาประกันมาให้สำหรับเงินจำนวนเช่นว่านี้จนเป็นที่พอใจของศาล ให้ศาลที่กล่าวมาแล้วงดการบังคับคดีไว้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ (๑)
     เมื่อได้รับคำขอเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินก็ได้ โดยมิต้องฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งนี้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้ฟังคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งใน ภายหลัง ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ตามที่ขอ คำสั่งนี้อาจอยู่ภายใต้บังคับเงื่อนไขใด ๆ หรือไม่ก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ทำทัณฑ์บนว่าจะไม่ยักย้ายจำหน่ายทรัพย์สินของตน ในระหว่างอุทธรณ์ หรือให้หาประกันมาให้ศาลให้พอกับเงินที่ต้องใช้ตามคำพิพากษาหรือจะให้วาง เงินจำนวนนั้นต่อศาลก็ได้ ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น ศาลจะสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้อุทธรณ์นั้นก็ได้ และถ้าทรัพย์สินเช่นว่านั้นหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ ศาลอาจมีคำสั่งให้เอาออกขายทอดตลาดก็ได้ ถ้าปรากฏว่าการขายนั้นเป็นการจำเป็นและสมควร เพราะทรัพย์สินนั้นมีสภาพเป็นของเสียได้ง่ายหรือว่าการเก็บรักษาไว้ใน ระหว่างอุทธรณ์น่าจะนำไปสู่ความยุ่งยากหรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน มาก
     มาตรา ๒๓๒ เมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์ศาลจะวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้นในคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้
     มาตรา ๒๓๓ ถ้าศาลยอมรับอุทธรณ์และมีความเห็นว่าการอุทธรณ์นั้นคู่ความที่ศาลพิพากษาให้ชนะ จะต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ให้ศาลมีอำนาจกำหนดไว้ในคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำเงินมาวางศาลอีกให้พอกับจำนวน ค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องเสียดังกล่าวแล้ว ตามอัตราที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์หรือภายในระยะเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรอนุญาต หรือตามแต่ผู้อุทธรณ์จะมีคำขอขึ้นมาไม่เกินสิบวันนับแต่สิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ นั้นถ้าผู้อุทธรณ์ไม่นำเงินจำนวนที่กล่าวข้างต้นมาวางศาลภายในกำหนดเวลาที่ อนุญาตไว้ก็ให้ศาลยกอุทธรณ์นั้นเสีย
     มาตรา ๒๓๔ ถ้าศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลนั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อ ศาลชั้นต้น และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหา ประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง
     มาตรา ๒๓๕ เมื่อศาลชั้นต้นได้รับอุทธรณ์แล้วให้ส่งสำเนาอุทธรณ์นั้นให้แก่จำเลยอุทธรณ์ภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือถ้าจำเลยอุทธรณ์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓๗สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลส่งอุทธรณ์และคำแก้อุทธรณ์ถ้าหากมี พร้อมทั้งสำนวนและหลักฐานต่าง ๆ ไปยังศาลอุทธรณ์เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับฟ้องอุทธรณ์และสำนวนความไว้แล้ว ให้นำคดีลงสารบบความของศาลอุทธรณ์โดยพลัน
     มาตรา ๒๓๖ เมื่อคู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ให้ศาลส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าพร้อมด้วยคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลชั้นต้นและฟ้องอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องตรวจสำนวน ให้มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้อง แล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุด แล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน
     เมื่อได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยอุทธรณ์ และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่จำเลยอุทธรณ์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ หรือนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๓๗ สำหรับการยื่นคำแก้อุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง ให้ศาลส่งคำแก้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือแจ้งให้ทราบว่าไม่มีคำแก้อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับคำแก้อุทธรณ์หรือแจ้งความเช่นว่าแล้ว ให้นำคดีลงสารบบความของศาลอุทธรณ์โดยพลัน
     มาตรา ๒๓๗ จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์
     ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลแสดงว่า จำเลยอุทธรณ์ขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์
     มาตรา ๒๓๘ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔๓ (๓) ในคดีที่อุทธรณ์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายนั้น การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน
     มาตรา ๒๓๙ อุทธรณ์คำสั่งนั้นจะต้องพิจารณาก่อนอุทธรณ์คำพิพากษาเท่าที่สามารถจะทำได้ แม้ถึงว่าอุทธรณ์คำพิพากษานั้นจะได้ลงไว้ในสารบบความของศาลอุทธรณ์ก่อนอุทธรณ์คำสั่งนั้นก็ดี
     มาตรา ๒๔๐ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีโดยเพียงแต่พิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ เอกสารและหลักฐานทั้งปวง ในสำนวนความซึ่งศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาเว้นแต่
     (๑) ศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๑ แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่มาศาลในวันกำหนดนัด ศาลอุทธรณ์อาจดำเนินคดีไปได้และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์นั้น ไม่ให้ถือเป็นคำพิพากษาโดยขาดนัด
     (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจในการพิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์และพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวน ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๓๘ และเฉพาะในปัญหาที่อุทธรณ์ให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้ว หรือพยานที่เห็นควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีโดยทั่ว ๆ ไป ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้สำหรับการพิจารณาในศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม
     (๓) ในคดีที่คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาหรือวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จ จริงอันเป็นสาระสำคัญในประเด็น ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่า นั้น แล้วพิพากษาไปตามรูปความ
     มาตรา ๒๔๑ ถ้าคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะมาแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ ให้ขอมาในตอนท้ายคำฟ้องอุทธรณ์ หรือคำแก้อุทธรณ์ แล้วแต่กรณี และให้ศาลอุทธรณ์กำหนดนัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจานั้น เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะพิจารณาเห็นว่าการแถลงการณ์ด้วยวาจาไม่จำเป็นแก่คดี จะสั่งงดฟังคำแถลงการณ์เสียก็ได้ ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะไปแถลงการณ์ด้วยวาจาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ด้วย ถึงแม้ว่าตนจะมิได้แสดงความประสงค์ไว้
     การแถลงการณ์ด้วยวาจา ผู้ขอแถลง เป็นผู้แถลงก่อน แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้แล้วผู้ขอแถลง แถลงได้อีกครั้งหนึ่ง ถ้าขอแถลงทั้งสองฝ่าย ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน ถ้าทั้งสองฝ่ายอุทธรณ์และต่างขอแถลง ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง
     มาตรา ๒๔๒ เมื่อศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนความและฟังคู่ความทั้งปวง หรือสืบพยานต่อไปดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ เสร็จแล้ว ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตัดสินอุทธรณ์โดยประการใดประการหนึ่งในสี่ประการนี้
     (๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์นั้นต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ให้ยกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งอุทธรณ์
     (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกต้อง ไม่ว่าโดยเหตุเดียวกันหรือเหตุอื่น ก็ให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้น
     (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำชี้ขาดของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเสีย และพิพากษาในปัญหาเหล่านั้นใหม่
     (๔) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นถูกแต่บางส่วน และผิดบางส่วน ก็ให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไปตามนั้น โดยพิพากษายืนบางส่วน กลับบางส่วน และมีคำพิพากษาใหม่แทนส่วนที่กลับนั้น
     มาตรา ๒๔๓ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย คือ
     (๑) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นอาจประกอบด้วยผู้พิพากษาอื่นนอกจากที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งมาแล้ว และคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่นี้ อาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นอย่างอื่นนอกจากคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกยกได้
     (๒) เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย การพิจารณาหรือมีเหตุที่ศาลได้ปฏิเสธไม่สืบพยานตามที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอ และศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ก็ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นแล้วกำหนดให้ ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิมหรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใดตามที่ศาลอุทธรณ์จะเห็นสมควร พิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน และพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่
     (๓) ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์จำต้องถือตามข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น ถ้าปรากฏว่า
          (ก) การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นผิดต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้น หรือ
          (ข) ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์อาจทำคำสั่งให้ยกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นเสีย แล้วกำหนดให้ศาลชั้นต้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาคณะเดิม หรือผู้พิพากษาอื่น หรือศาลชั้นต้นอื่นใด ตามที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรพิจารณาคดีนั้นใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน โดยดำเนินตามคำชี้ขาดของศาลอุทธรณ์แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฏจากการอุทธรณ์หรือไม่
     ในคดีทั้งปวงที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามมาตรานี้ คู่ความชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่เช่นว่านี้ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้
     มาตรา ๒๔๔ ศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษานั้นเองหรือจะส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้ ในกรณีเหล่านี้ให้ศาลที่อ่านคำพิพากษามีคำสั่งกำหนดนัดวันอ่านส่งให้แก่คู่ความอุทธรณ์ทุกฝ่าย
     มาตรา ๒๔๕ คำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นอุทธรณ์ให้มีผลเฉพาะระหว่างคู่ความชั้นอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
     (๑) ถ้าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์นั้นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และคู่ความแต่บางฝ่ายเป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นมีผลเป็นที่สุดระหว่างคู่ความอื่น ๆ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรกลับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่อุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจชี้ขาดว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้มีผลระหว่างคู่ความทุกฝ่ายในคดีในศาลชั้นต้นด้วย
     (๒) ถ้าได้มีการอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีแทนคู่ความฝ่ายใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลบังคับแก่คู่ความฝ่ายนั้นด้วย
     มาตรา ๒๔๖ เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้ดังกล่าวมาข้างต้นบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น