ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

หมวด ๓
อนุญาโตตุลาการ

     มาตรา ๒๑๐ บรรดาคดีทั้งปวงซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความจะตกลงกันเสนอข้อพิพาทอันเกี่ยวกับประเด็นทั้งปวงหรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้ชี้ขาดก็ได้ โดยยื่นคำขอร่วมกันกล่าวถึงข้อความแห่งข้อตกลงเช่นว่านั้นต่อศาล
     ถ้าศาลเห็นว่าข้อตกลงนั้นไม่ผิดกฎหมาย ให้ศาลอนุญาตตามคำขอนั้น
     มาตรา ๒๑๑ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดข้อความไว้เป็นอย่างอื่น การตั้งอนุญาโตตุลาการให้ใช้ข้อบังคับดังต่อไปนี้
     (๑) คู่ความชอบที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการได้ฝ่ายละคน แต่ถ้าคดีมีโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหลายคน ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการเพียงคนหนึ่งแทนโจทก์ร่วมทั้งหมดและคนหนึ่งแทนจำเลยร่วมทั้งหมด

     (๒) ถ้าคู่ความจะตั้งอนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคน ด้วยความเห็นชอบพร้อมกัน การตั้งเช่นว่านี้ให้ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
     (๓) ถ้าตกลงกันให้คู่ความฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการ การตั้งเช่นว่านี้ ให้ทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี และลงลายมือชื่อของคู่ความหรือบุคคลภายนอกนั้น แล้วส่งไปให้คู่ความอื่น ๆ
     (๔) ถ้าศาลไม่เห็นชอบด้วยบุคคลที่คู่ความตั้งหรือที่เสนอตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ให้ศาลสั่งให้คู่ความตั้งบุคคลอื่นหรือเสนอบุคคลอื่นตั้งเป็นอนุญาโตตุลาการ ถ้าคู่ความมิได้ตั้งหรือเสนอให้ตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการ ให้ศาลมีอำนาจตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการได้ตามที่เห็นสมควร แล้วให้ศาลส่งคำสั่งเช่นว่านี้ไปยังอนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้น และคู่ความที่เกี่ยวข้องโดยทางเจ้าพนักงานศาล
     มาตรา ๒๑๒ ข้อความในหมวดนี้มิได้ให้อำนาจศาลที่จะตั้งบุคคลใดเป็นอนุญาโตตุลาการโดยมิได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น
     มาตรา ๒๑๓ เมื่อบุคคลหรือคู่ความที่มีสิทธิ ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นแล้วห้ามมิให้บุคคลหรือคู่ความนั้นถอนการตั้งเสีย เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมด้วย
     อนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นโดยชอบนั้น ถ้าเป็นกรณีที่ศาลหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้ตั้ง คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ หรือถ้าเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ตั้ง คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะคัดค้านก็ได้ โดยอาศัยเหตุดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ หรือเหตุที่อนุญาโตตุลาการนั้นเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่มีการคัดค้านอนุญาโตตุลาการดังว่านี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการคัดค้านผู้พิพากษามาใช้บังคับโดยอนุโลม
     ถ้าการคัดค้านอนุญาโตตุลาการนั้นฟังขึ้น ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นใหม่
     มาตรา ๒๑๔ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการไว้อนุญาโตตุลาการชอบที่จะเสนอความข้อนี้ต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง และให้ศาลมีอำนาจมีคำสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร
     มาตรา ๒๑๕ เมื่อได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นแล้ว ถ้าในข้อตกลงหรือในคำสั่งศาลแล้วแต่กรณี มิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ให้อนุญาโตตุลาการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเหล่านั้น แล้วจดลงในรายงานพิสดารกลัดไว้ในสำนวนคดีอนุญาโตตุลาการ
     มาตรา ๒๑๖ ก่อนที่จะทำคำชี้ขาด ให้อนุญาโตตุลาการฟังคู่ความทั้งปวงและอาจทำการไต่สวนตามที่เห็นสมควรในข้อพิพาทอันเสนอมาให้พิจารณานั้น
     อนุญาโตตุลาการ อาจตรวจเอกสารทั้งปวงที่ยื่นขึ้นมาและฟังพยาน หรือผู้เชี่ยวชาญซึ่งเต็มใจมาให้การ ถ้าอนุญาโตตุลาการขอให้ศาลส่งคำคู่ความ หรือบรรดาเอกสารอื่น ๆ ในสำนวนเช่นว่านี้มาให้ตรวจดู ให้ศาลจัดการให้ตามคำร้องขอนั้น
     ถ้าอนุญาโตตุลาการเห็นว่าจำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใด ที่ต้องดำเนินทางศาล (เช่นหมายเรียกพยาน หรือให้พยานสาบานตน หรือให้ส่งเอกสาร) อนุญาโตตุลาการอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น ถ้าศาลเห็นว่ากระบวนพิจารณานั้นอยู่ในอำนาจศาลและพึงรับทำให้ได้แล้ว ให้ศาลจัดการให้ตามคำขอเช่นว่านี้โดยเรียกค่าธรรมเนียมศาลตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับกระบวนพิจารณาที่ขอให้จัดการนั้นจากอนุญาโตตุลาการ
     ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๒๑๕ และมาตรานี้ อนุญาโตตุลาการมีอำนาจที่จะดำเนินตามวิธีพิจารณาใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้ เว้นแต่ในข้อตกลงจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
     มาตรา ๒๑๗ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้นให้อยู่ภายในบังคับต่อไปนี้
     (๑) ในกรณีที่มีอนุญาโตตุลาการหลายคน ให้ชี้ขาดตามคะแนนเสียงฝ่ายข้างมาก
     (๒) ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้อนุญาโตตุลาการตั้งบุคคลภายนอกเป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อออกคะแนนเสียงชี้ขาด ถ้าอนุญาโตตุลาการไม่ตกลงกันในการตั้งประธาน ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งประธาน
     มาตรา ๒๑๘ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๐, ๑๔๑ และ ๑๔๒ ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งของศาลมาใช้บังคับแก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอนุโลม
     ให้อนุญาโตตุลาการยื่นคำชี้ขาดของตนต่อศาล และให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น
     แต่ถ้าศาลเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายประการใดประการหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น แต่ถ้าคำชี้ขาดนั้นอาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ ศาลอาจให้อนุญาโตตุลาการหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องแก้ไขเสียก่อนภายในเวลาอันสมควรที่ศาลจะกำหนดไว้
     มาตรา ๒๑๙ ถ้าในข้อตกลงมิได้กำหนดข้อความไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินตามข้อตกลง เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด เพราะบุคคลภายนอกซึ่งรับมอบหมายให้เป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้น หรืออนุญาโตตุลาการที่ตั้งขึ้นคนเดียวหรือหลายคนนั้นปฏิเสธไม่ยอมรับหน้าที่ หรือตายเสียก่อน หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือด้วยเหตุประการอื่นไม่อาจที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ก่อนให้คำชี้ขาด หรือปฏิเสธหรือเพิกเฉยไม่กระทำตามหน้าที่ของตนภายในเวลาอันสมควร ถ้าคู่ความไม่สามารถทำความตกลงกันเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นอันสิ้นสุด
     มาตรา ๒๒๐ ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินตามข้อตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด หรือมีข้อพิพาทกันว่า ข้อตกลงนั้นได้สิ้นสุดลงตามมาตราก่อนแล้วหรือหาไม่ ข้อพิพาทนั้นให้เสนอต่อศาลที่เห็นชอบด้วยข้อตกลงดังกล่าวแล้ว
     มาตรา ๒๒๑ การเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ
     มาตรา ๒๒๒ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งศาลซึ่งปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาตามคำสั่งชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หรือคำพิพากษาของศาลตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้
     (๑) เมื่อมีข้ออ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการหรือประธานมิได้กระทำการโดยสุจริตหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉล
     (๒) เมื่อคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
     (๓) เมื่อคำพิพากษานั้นไม่ตรงกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น