แบ่งสินสมรสก่อนแบ่งมรดก

ฎีกาที่ 1364/2508

          นายอาบผู้ตายมีภริยาคนแรกชื่อนางละออมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางอุดมโจทก์ เมื่อโจทก์อายุได้ประมาณ 2 ขวบ นายอาบเลิกกับนางละออและแต่งงานใหม่กับนางสวัสดิ์มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางสาวอารีย์จำเลยที่ 2 ต่อมาอีกประมาณ 36 ปี นางสวัสดิ์ถึงแก่กรรม นายอาบถูกนางสาวอารีย์จำเลยที่ 2 ใช้มีดแทงถึงแก่กรรมพนักงานสอบสวนมอบให้จำเลยที่ 1 ดูแลรักษาทรัพย์มรดกของนายอาบและของนางสาวอารีย์ ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายอาบ โจทก์จึงขอให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบทรัพย์จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่ง ศาลฎีกาเห็นว่า ทรัพย์อันดับที่ 20 ที่ดินโฉนดที่ 8081 แม้จะมีชื่อนางสวัสดิ์ถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว แต่ปรากฏตามโฉนดว่าเจ้าพนักงานได้ออกโฉนดให้นางสวัสดิ์เมื่อ พ.ศ. 2473 ฟังได้ว่าหลังจากนางสวัสดิ์เป็นภริยานายอาบ ที่ดินแปลงนี้จึงเป็นสินสมรสระหว่างนายอาบและนางสวัสดิ์ ทั้งยังได้ความว่านางสวัสดิ์ถึงแก่กรรมก่อนนายอาบ ที่ดินแปลงนี้ส่วนที่เป็นสิน
สมรสของนางสวัสดิ์จึงตกเป็นมรดกตกได้แก่นายอาบ ส่วนหนึ่งด้วย เมื่อนายอาบถึงแก่กรรม ที่ดินแปลงนี้ส่วนที่เป็นสินสมรสของนายอาบและส่วนที่นายอาบได้รับมรดกจากนาง สวัสดิ์ย่อมเป็นมรดกของนายอาบ ส่วนทรัพย์อันดับที่ 19, 20 และ 23 โฉนดที่ดินทุกฉบับมีชื่อนายอาบถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสวัสดิ์ ที่ดิน 3 แปลงนี้ส่วนที่เป็นสินสมรสของนายอาบจึงเป็นมรดกของนายอาบเช่นเดียวกัน โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายอาบย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ส่งโฉนดที่ดิน 4 แปลงนี้ให้โจทก์เพื่อจัดการต่อไปตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719

           ปล.ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างที่ยังเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีชื่อของสามีหรือของภริยาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ถือว่าเป็นสินสมรส เมื่อฝ่ายใดเสียชีวิตอีกฝ่ายย่อมแบ่งทรัพย์สินออกไปครึ่งหนึ่งก่อน ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจึงจะเป็นทรัพย์มรดกที่ทายาททุกคนมีสิทธิได้รับตามส่วนของตน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น