พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๘) พ.ศ.๒๕๕๗

พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๘)
พ.ศ. ๒๕๕๗
                 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗
เป็นปีที่ ๖๙ ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
        โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภา
นิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๘) พ.ศ. ๒๕๕๗”
        มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๓ แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        “มาตรา ๖๓ บุคคลใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
        บุคคลใดที่ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี แต่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่ถูกหักและนำส่งไว้แล้วนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในสามปีนับแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ของปีถัดจากปีที่ถูกหักภาษีไว้”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
      นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๖๓ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้การขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย ให้ยื่นคำร้องขอคืนได้ภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา ๒๗ ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นบทบัญญัติในลักษณะทำนองเดียวกันทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย สมควรปรับปรุงระยะเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น