พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

พระราชบัญญัติ 
ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 
พ.ศ. ๒๕๔๔ 

 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. 
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ 
เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔”
        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
        “ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
        “จำเลย” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญา
        “ค่าตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับ เพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหรือเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น
        “ค่าทดแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่จำเลยมีสิทธิได้รับเนื่องจากการตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และปรากฏว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้นฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
        “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา
        “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา
         “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญา
        “พนักงานอัยการ” หมายความว่า พนักงานอัยการตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการหรืออัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร
        “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
        “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
        มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
        กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 หมวด ๑ 
บททั่วไป 

        มาตรา ๕ การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น
        มาตรา ๖ ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย แล้วแต่กรณี ให้สิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย ตกแก่ทายาทซึ่งได้รับความเสียหายของผู้เสียหายหรือจำเลยนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

 หมวด ๒ 
คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน 
และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 

        มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกห้าคน เป็นกรรมการ ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน
        ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน ก็ได้
        มาตรา ๘ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (
        (๑) พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ (
        (๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ตลอดจนการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
        (๓) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณา (
        (๔) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
        ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติแทนได้
        มาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
        มาตรา ๑๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (
        (๑) ตาย (
        (๒) ลาออก (
        (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ (
        (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย (
        (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (
        (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
        มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
        มาตรา ๑๒ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่
        มาตรา ๑๓ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
        ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
        มติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
        มาตรา ๑๔ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้
        ในการประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 หมวด ๓ 
สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา 

        มาตรา ๑๕ ให้จัดตั้งสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (
        (๑) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ (
        (๒) รับคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ (
        (๓) ประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่นหรือบุคคลใด ๆ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงหรือความเห็นเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย (
        (๔) เก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย (
        (๕) กระทำกิจการตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
        มาตรา ๑๖ ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ กระทรวงยุติธรรมอาจแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เพื่อให้มีอำนาจดำเนินคดีหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีตามที่กระทรวงยุติธรรมมอบหมายก็ได้ และให้แจ้งศาลทราบ
        การดำเนินคดีตามมาตรานี้ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

 หมวด ๔ 
การจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา 

        มาตรา ๑๗ ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายอันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้
        มาตรา ๑๘ ค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๗ ได้แก่ (
        (๑) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ (
        (๒) ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวนไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง (
        (๓) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ (
        (๔) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
        ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
        คณะกรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย
        มาตรา ๑๙ หากปรากฏในภายหลังว่าการกระทำที่ผู้เสียหายอาศัยเป็นเหตุในการขอรับค่าตอบแทนนั้นไม่เป็นความผิดอาญาหรือไม่มีการกระทำเช่นว่านั้น ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายคืนค่าตอบแทนที่ได้รับไปแก่กระทรวงยุติธรรมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

 หมวด ๕ 
การจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา 

        มาตรา ๒๐ จำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต้อง (
        (๑) เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
        (๒) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ (
        (๓) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
        ในคดีที่มีจำเลยหลายคน จำเลยคนใดถึงแก่ความตายก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด และคณะกรรมการเห็นสมควรจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ถ้าเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี จำเลยที่ถึงแก่ความตายนั้นมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ได้ด้วย
        มาตรา ๒๑ การกำหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๒๐ ให้กำหนดตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (
        (๑) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง ให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา (
        (๒) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี (
        (๓) ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี จำนวนไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (
        (๔) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี (
        (๕) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี
        ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว
        ในกรณีที่มีคำขอให้ได้รับสิทธิที่เสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน การสั่งให้ได้รับสิทธิคืนตามคำขอดังกล่าว ถ้าไม่สามารถคืนสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นว่านั้นได้ ให้คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนเพื่อสิทธินั้นให้ตามที่เห็นสมควร
        คณะกรรมการอาจกำหนดให้จำเลยได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี ความเดือดร้อนที่จำเลยได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายจากทางอื่นด้วย

 หมวด ๖ 
การยื่นคำขอ การพิจารณาคำขอ และการอุทธรณ์ 

        มาตรา ๒๒ ให้ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ ณ สำนักงาน ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการกระทำความผิด หรือวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือวันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด แล้วแต่กรณี
        มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายแทนได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
        มาตรา ๒๔ หลักเกณฑ์ วิธีการยื่นคำขอ และวิธีพิจารณาคำขอ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
        มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
        การยื่นอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะยื่นต่อสำนักงานหรือศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเพื่อส่งให้แก่ศาลอุทธรณ์ก็ได้ และให้ถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว
        ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไต่สวนหลักฐานเพิ่มเติมโดยสืบพยานเอง หรืออาจแต่งตั้งให้ศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควรทำแทนก็ได้

 หมวด ๗ 
พนักงานเจ้าหน้าที่ 

        มาตรา ๒๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ ดังต่อไปนี้ (
        (๑) สอบปากคำผู้ยื่นคำขอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคำขอ (
        (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณา
        มาตรา ๒๗ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

 หมวด ๘ 
บทกำหนดโทษ 

        มาตรา ๒๘ ผู้ใดยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        มาตรา ๒๙ ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        มาตรา ๓๐ ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งหนังสือตอบหนังสือสอบถาม เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 บทเฉพาะกาล 

        มาตรา ๓๑ ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงยุติธรรมกำหนดให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงยุติธรรมดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานจนกว่าจะตั้งสำนักงานแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร 
นายกรัฐมนตรี 

รายการท้ายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย 
แก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ 

        ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา ๑๗ ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ความผิด
        ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ                             มาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๗
        ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย
                      หมวด ๑ ความผิดต่อชีวิต                          มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔
                      หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย                     มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐
                      หมวด ๓ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก           มาตรา ๓๐๑ ถึงมาตรา ๓๐๕
                      หมวด ๔ ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก
                                 คนป่วยเจ็บ หรือคนชรา                   มาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น