ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

หมวด ๒
วิธียึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ และการจ่ายเงิน

     มาตรา ๓๐๓ การยึดเอกสารและสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดย
     (๑) นำเอาเอกสารหรือทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใดหรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ หรือ
     (๒) มอบไว้ในความอารักขาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยความยินยอมของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือมอบไว้ในอารักขาของบุคคลอื่นใดซึ่งครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่และแจ้งการยึดให้ลูกหนี้หรือบุคคลเช่นว่านั้นทราบ กับต้องกระทำให้การยึดนั้นเห็นประจักษ์แจ้งโดยการประทับตราหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดที่สมควร

     การยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างนั้น ครอบไปถึงดอกผลแห่งทรัพย์นั้นด้วย
     มาตรา ๓๐๔ การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำเอาหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน ถ้าหนังสือสำคัญยังไม่ได้ออก หรือนำมาแสดงไม่ได้ หรือหาไม่พบ ให้ถือว่าการที่ได้แจ้งการยึดต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้น เป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว
     การยึดอสังหาริมทรัพย์นั้น ครอบไปถึงเครื่องอุปกรณ์และดอกผลนิตินัยของอสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดอกผลธรรมดาที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องเป็นผู้เก็บเกี่ยว หรือบุคคลอื่นเก็บเกี่ยวในนามลูกหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้แจ้งเป็นหนังสือให้ทราบในขณะทำการยึดว่า จะทำการเก็บเกี่ยวเองแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจจัดให้เก็บเกี่ยวดอกผลนั้นได้เมื่อถึงกำหนด และทำการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติในลักษณะนี้
     มาตรา ๓๐๕ การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังบัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนนี้ มีผลดังต่อไปนี้
     (๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิในทรัพย์สินที่ถูกยึดภายหลังที่ได้ทำการยึดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งทรัพย์สินนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้จำหน่ายทรัพย์สินเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม
     (๒) ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับมอบให้เป็นผู้อารักขาสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างที่ถูกยึดหรือเป็นผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึด ลูกหนี้ชอบที่จะใช้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ตามสมควร แต่ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะทำให้ทรัพย์ที่ได้รับมอบไว้ในอารักขา หรือทรัพย์ที่อยู่ในครอบครองเสียหาย หรือเกลือกจะเสียหาย โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นเอง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้นร้องขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะระวังรักษาทรัพย์สินนั้นเสียเอง หรือตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นก็ได้
     มาตรา ๓๐๖ เมื่อได้ยึดสังหาริมทรัพย์มีรูปร่างหรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือ บางส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาด ทรัพย์สินนั้น ถ้าไม่มีผู้คัดค้านในการขายทรัพย์ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๓๐๗ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาด แก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ซึ่งทราบได้ตามทะเบียน หรือโดยประการอื่น
     คำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๓๐๗ ถ้ารายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรมของลูกหนี้ตามคำพิพากษา อาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ศาลอาจมีคำสั่งตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการเหล่านั้นได้ และบังคับให้มอบเงินรายได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาและกำหนดตามที่ศาลเห็นสมควร แทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
     คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๓๐๘ เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดได้เมื่อพ้นระยะเวลาอย่างน้อยห้าวันนับแต่วันที่ยึด การขายนั้นให้ดำเนินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎกระทรวงว่าด้วยการนั้นและตามข้อกำหนดของศาล ซึ่งระบุไว้ในคำสั่งอนุญาตให้ขายทรัพย์สินนั้น ถ้าหากมี
     บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่ทรัพย์อันมีสภาพเป็นของสดของเสียได้ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจที่จะขายได้ทันที โดยวิธีขายทอดตลาด หรือวิธีอื่นที่สมควร
     มาตรา ๓๐๙ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติตามข้อบังคับต่อไปนี้
     (๑) ในการขายทรัพย์สินที่มีหลายสิ่งด้วยกัน ให้แยกขายทีละสิ่งต่อเนื่องกันไป แต่
          (ก) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาเล็กน้อยรวมขายเป็นกอง ๆ ได้เสมอ และ
          (ข) เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์สองสิ่งหรือกว่านั้นขึ้นไป รวมขายไปด้วยกันได้ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่า เงินรายได้ในการขายจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
     (๒) ในการขายอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ และทรัพย์สินนั้นอาจแบ่งแยกออกได้เป็นตอน ๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นเป็นตอน ๆ ได้ ในเมื่อเป็นที่คาดหมายได้ว่าเงินรายได้ในการขายทรัพย์สินบางตอนจะเพียงพอแก่ การบังคับคดี หรือว่าเงินรายได้ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเพราะเหตุนั้น
     (๓) ในการขายทรัพย์สินหลายสิ่งด้วยกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดลำดับที่จะขายทรัพย์สินนั้น
     บุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินซึ่งจะต้องขาย อาจร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้หรือจะร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งตามสามอนุมาตราก่อนนั้นก็ได้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องจะยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้อง ภายในสองวันนับตั้งแต่วันปฏิเสธ เพื่อขอให้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้นก็ได้คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งหรือจนกว่าจะได้พ้นระยะเวลาซึ่งให้นำเรื่องขึ้นสู่ศาลได้
     มาตรา ๓๐๙ ทวิ ใน การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้า พนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีสวนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวน ต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป เพื่อให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่คัดค้านหรือไม่ก็ตาม หาผู้ซื้อที่จะเสนอซื้อในราคาที่บุคคลดังกล่าวต้องการมาเสนอซื้อในการขายทอด ตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป โดยให้ผู้เสนอราคาสูงสุดต้องผูกพันกับการเสนอราคาดังกล่าวเป็นระยะเวลาสาม สิบวันนับแต่วันที่เสนอราคานั้น และในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไป หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่สูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอ ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน หรือไม่มีผู้ใดเสนอราคาเลย ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด ทรัพย์สินครั้งก่อน แต่หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไปในจำนวนสูง กว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด ทรัพย์สินนั้น
     ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเห็นว่าราคาที่ได้จากการขายทอดตลาด ทรัพย์สินมีจำนวนต่ำเกินสมควร และการขายทอดตลาดทรัพย์สินในราคาต่ำเกินสมควรนั้นเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลใน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการเข้าสู้ราคา หรือความไม่สุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าพนักงานบังคับ คดีในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลดังกล่าวอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ได้ และเมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าคำร้องรับฟังได้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องหรือแก้ไขหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตาม ที่ศาลเห็นสมควรให้เสร็จภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับคำร้องนั้น
     ให้นำบทบัญญัติในวรรคสาม วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก ของมาตรา ๒๙๖ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องตามวรรคสองโดยอนุโลม
     คำสั่งศาลตามวรรคสองให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๓๐๙ ตรี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ใน เขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริม ทรัพย์นั้น ภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ ให้บังคับตามมาตรา ๒๙๖ ทวิ มาตรา ๒๙๖ ตรี มาตรา ๒๙๖ จัตวา มาตรา ๒๙๖ ฉ มาตรา ๒๙๖ สัตต มาตรา ๒๙๙ มาตรา ๓๐๐ มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือ บริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบท บัญญัติดังกล่าว
     มาตรา ๓๑๐ เมื่อได้มีการยึดทรัพย์แล้ว สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้อันมีต่อบุคคลภายนอกนั้น ให้จัดการดังต่อไปนี้
     (๑) ถ้าเป็นพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่เป็นประกันซึ่งเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษา (ออกให้แก่ผู้ถือหรือออกในนามของลูกหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าพนักงานบังคับคดีจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายสิ่งเหล่า นั้นตามรายการขานราคาในวันที่ขายก็ได้หากสิ่งเหล่านั้นได้มีรายการขานราคา กำหนดไว้ ณ สถานแลกเปลี่ยน หรือจะขายโดยวิธีขายทอดตลาดดังบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ก็ได้ ถ้ามิได้ทำคำขอเช่นว่านั้นหรือคำขอถูกยกเสีย ให้ขายสิ่งเหล่านั้นโดยวิธีขายทอดตลาด
     (๒) ถ้าเป็นตราสารเปลี่ยนมือ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำหน่ายตามราคาที่ ปรากฏในตราสารหรือราคาต่ำกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดถ้าศาลสั่งยกคำขอ ให้นำตราสารนั้นออกขายทอดตลาด
     (๓) ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๐ ทวิ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกบุคคลซึ่งต้องรับผิดในการ ชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้น ๆ ให้มาศาล ถ้าบุคคลนั้นมายังศาลและยินยอมชำระหนี้ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ศาลจด รายงานไว้ ถ้าบุคคลนั้นไม่มาศาลหรือไม่ยินยอมชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ฟ้องตามเอกสารที่ได้ยึดนั้น และถ้าศาลพิพากษาในที่สุดให้เจ้าหนี้เป็นผู้ชนะคดี เจ้าหนี้ต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบจำนวนเงินที่รับชำระหนี้จากการนั้น ด้วย
     คำสั่งอนุญาตของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๓๑๐ ทวิ ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งหรือเรียกให้ส่งมอบสิ่งของนอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๑๐ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดและจำหน่ายไปตามที่บัญญัติไว้ในห้ามาตราต่อไปนี้
     มาตรา ๓๑๑ สิทธิเรียกร้องซึ่งระบุไว้ในมาตรา ๓๑๐ ทวิ นั้น ให้อายัดได้โดยคำสั่งอายัดซึ่งศาลได้ออกให้ตามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องฝ่ายเดียวและเจ้าหนี้ได้นำส่งให้แก่ลูกหนี้ตามคำ พิพากษาและบุคคลซึ่งต้องรับผิดเพื่อการชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของนั้น
     เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจกำหนดไว้ในหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องตามมาตรา ๓๑๐ ทวิ ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นคำสั่งอายัดของศาล
     คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขหรือว่าได้กำหนดจำนวนไว้แน่นอนหรือไม่
     คำสั่งนั้นต้องมีข้อห้ามลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้งดเว้นการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องตั้งแต่ขณะที่ได้ส่งคำสั่งนั้นให้ และมีข้อห้ามบุคคลภายนอกไม่ให้ชำระเงินหรือส่งมอบสิ่งของให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ชำระหรือส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลาหรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง
     มาตรา ๓๑๒ ถ้าบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์ปฏิเสธหรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน ศาลอาจทำการไต่สวน และ (๑) ถ้าศาลเป็นที่พอใจว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นมีอยู่จริงก็ให้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หรือ (๒) ถ้าศาลเห็นว่ารูปเรื่องจะทำให้เสร็จเด็ดขาดไม่ได้สะดวกโดยวิธีไต่สวน ก็ให้มีคำสั่งอย่างอื่นใดในอันที่จะให้เสร็จเด็ดขาดไปได้ตามที่เห็นสมควร
     ถ้าคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นไม่มีการคัดค้าน หรือศาลได้มีคำสั่งรับรองดังกล่าวแล้วและบุคคลภายนอกมิได้ปฏิบัติตามนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้น และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
     ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้นต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของบุคคลภายนอก เนื่องจากการที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลไม่ว่าด้วยประการใด ๆ บุคคลภายนอกเช่นว่านั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้นั้น
     มาตรา ๓๑๓ การอายัดสิทธิเรียกร้องแห่งรายได้เป็นคราว ๆ นั้น รวมตลอดถึงจำนวนเงินซึ่งถึงกำหนดชำระภายหลังการอายัดนั้นด้วย
     ถ้าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกในอันที่จะเรียกให้ชำระเงินจำนวนหนึ่งนั้น มีการจำนองเป็นประกัน การอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมตลอดถึงการจำนองด้วย แต่ทั้งนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นไปยังเจ้าพนักงานที่ดินและให้เจ้าพนักงานที่ดินจดแจ้งไว้ในทะเบียนที่ดิน
     มาตรา ๓๑๔ การอายัดสิทธิเรียกร้องดังบัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนนี้ ให้มีผลดังต่อไปนี้
     (๑) การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ได้ถูกอายัดภายหลังที่ได้ทำการอายัดไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นจะเกินกว่าจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้จำหน่ายสิทธิเรียกร้องนั้นเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม
     (๒) ถ้าค่าแห่งสิทธิเรียกร้องซึ่งอายัดไว้นั้น ต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ๆ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อความเสียหายใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่ลูกหนี้นั้น
     (๓) การชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกตามที่ระบุไว้ในคำสั่งอายัดทรัพย์นั้นให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมาย
     มาตรา ๓๑๕ ถ้าสิ่งของที่จะต้องส่งมอบตามสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดนั้นได้ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีไปแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายโดยการขายทอดตลาดดังที่บัญญัติไว้ในลักษณะนี้
     ถ้าการจำหน่ายสิทธิเรียกร้องที่ถูกอายัดนั้นกระทำได้โดยยาก เนื่องจากการชำระหนี้นั้นต้องอาศัยการชำระหนี้ตอบแทน หรือด้วยเหตุอื่นใด และการบังคับคดีอาจล่าช้าเป็นการเสียหายแก่คู่ความทุกฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแก่บุคคลผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อคู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งกำหนดให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นก็ได้
     มาตรา ๓๑๖ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีรายละเอียดแสดงจำนวนเงินทั้งหมดที่ ได้ยึดหรือได้มาจากการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือที่ได้วางไว้กับตน นอกจากนี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีพิเศษสำหรับทรัพย์สินแต่ละราย ซึ่งอยู่ในบังคับการจำนองหรือบุริมสิทธิพิเศษซึ่งได้มีการแจ้งให้ทราบโดยชอบ แล้วตามที่กล่าวไว้ในมาตรา ๒๘๙
     ภายใต้บังคับมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะล้มละลายและมาตรา ๒๙๒ถึง ๒๙๕ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการรอหรือการงดการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดสรรหรือแบ่งเฉลี่ยเงินนั้นดังบัญญัติไว้ในมาตรา ต่อไปนี้
     มาตรา ๓๑๗ ในกรณีที่จะต้องบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้พิพากษาหรือสั่งโดยจำเลยขาดนัดนั้น ห้ามมิให้เฉลี่ยเงินที่ได้มาจนกว่าระยะหกเดือนจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันยึดทรัพย์หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแสดงให้ศาลเป็นที่พอใจว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบถึงคดีซึ่งขอให้มีการบังคับแล้ว มิให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มาใช้บังคับ
     มาตรา ๓๑๘ ในกรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่คนเดียวขอร้องให้บังคับคดี และมิได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ เมื่อได้จัดการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินตามจำนวนหนี้ในคำพิพากษาและค่าฤชาธรรมเนียม ในการฟ้องร้องให้แก่เจ้าหนี้ที่ตามคำพิพากษา เพียงเท่าที่เงินรายได้จำนวนสุทธิจะพอแก่การที่จะจ่ายให้ได้
     มาตรา ๓๑๙ ใน กรณีที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหลายคนร้องขอให้บังคับคดี หรือได้มีการแจ้งให้ทราบซึ่งการจำนองหรือบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ จำหน่ายได้มาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๙ เมื่อได้จัดการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จ และได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้า หนี้ตามคำพิพากษา หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนจากเงินรายได้จำนวนสุทธิที่พอแก่การที่จะจ่าย ให้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เหล่านั้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตามประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการจ่ายเงินเช่นว่านี้ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวไปยังเจ้าหนี้เหล่านั้นขอให้ตรวจ สอบบัญชีเช่นว่านั้นและให้แถลงข้อคัดค้านภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ส่งคำ บอกกล่าว
     ถ้าไม่มีคำแถลงยื่นภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้นตามบัญชี
     มาตรา ๓๒๐ ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตราก่อนนี้ ถ้ามีเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนดังกล่าวแล้ว ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีส่วนเฉลี่ยต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายเรียก ให้เจ้าหนี้ทุกคนมาในเวลา และ ณ สถานที่ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามวัน
     เจ้าหนี้จะไปตามหมายเรียกเช่นว่านั้นด้วยตนเอง หรือจะให้ผู้แทนที่ได้รับมอบอำนาจโดยชอบไปและกระทำการแทนในกิจการทั้งหลายอันเกี่ยวแก่เรื่องนั้นก็ได้
     เมื่อได้ตรวจพิจารณาคำแถลงและฟังคำชี้แจงของเจ้าหนี้ผู้ที่มาตามหมายเรียกแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำคำสั่งยืนตามหรือแก้ไขบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้น แล้วให้อ่านให้เจ้าหนี้ที่มานั้นฟัง และให้เจ้าหนี้ลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน และให้ส่งคำสั่งนั้นไปยังเจ้าหนี้ผู้ซึ่งมิได้มาตามหมายเรียกด้วย ถ้าหากมี
     ถ้าเจ้าหนี้คนใดไม่พอใจคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีเจ้าหนี้นั้นชอบที่จะยื่น คำขอโดยทำเป็นคำร้องคัดค้านคำสั่งนั้นต่อศาลชั้นต้นได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้อ่านหรือที่ได้ส่งคำสั่ง แล้วแต่กรณี แต่ถ้าเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอนั้นมิได้ไปตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่สามารถแสดงเหตุผลดีในการที่ไม่ไปต่อหน้าเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ให้ศาลนั้นยกคำขอนั้นเสีย คำสั่งของศาลที่ออกตามความในวรรคนี้ให้เป็นที่สุด
     ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งได้มาตามหมายเรียกทุกคนได้ยินยอมตามคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับ คดีและลงลายมือชื่อไว้เป็นพยานหลักฐานในการยินยอมนั้นแล้ว และถ้าเจ้าหนี้ผู้ไม่มาซึ่งมีสิทธิคัดค้านคำสั่งได้ มิได้ยื่นคำคัดค้านภายในเวลากำหนด ให้ถือว่าบัญชีส่วนเฉลี่ยนั้นเป็นที่สุด และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามนั้น
     ถ้าเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิคัดค้านคำสั่งได้ยื่นคำคัดค้านดังที่บัญญัติไว้ข้างต้นแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปจนกว่าศาลได้มีคำสั่งแล้ว หรือทำการจ่ายส่วนเฉลี่ยชั่วคราว ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราต่อไป
     บทบัญญัติมาตรานี้ ให้ใช้บังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วยโดยอนุโลม
     มาตรา ๓๒๑ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่า ถ้าจะเลื่อนการจ่ายส่วนเฉลี่ยไปจนกว่าได้จำหน่ายทรัพย์สินที่ประสงค์จะบังคับทั้งหมด หรือจนกว่าการเรียกร้องทั้งหมดที่มาสู่ศาลได้เสร็จเด็ดขาดแล้ว จะทำให้บุคคลผู้มีส่วนเฉลี่ยในเงินรายได้แห่งทรัพย์สินที่บังคับนั้นทุกคนหรือคนใดคนหนึ่งได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสิทธิที่จะแบ่งเงินรายได้เท่าที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ดั่งที่บัญญัติไว้ในสองมาตราก่อนได้ ในเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้กันเงินไว้สำหรับชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดในการบังคับคดีที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นต่อไป และสำหรับชำระการเรียกร้องใด ๆ ที่ยังมีข้อโต้แย้งไว้แล้ว
     มาตรา ๓๒๒ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทุกคนได้รับส่วนแบ่งเป็นที่พอใจแล้ว ถ้ายังมีเงินที่จำหน่ายทรัพย์สินได้เหลืออยู่ และเงินที่ยังเหลือเช่นว่านั้นได้ถูกอายัดตามมาตรา ๒๙๑ หรือโดยประการอื่น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจำหน่ายส่วนที่เหลือนั้นตามมาตรา ๒๙๑ หรือตามคำสั่งอายัดทรัพย์ แล้วแต่กรณี
     ถ้าเงินรายได้จำนวนสุทธิที่จำหน่ายทรัพย์สินได้มานั้นไม่ต้องการใช้สำหรับการบังคับคดีต่อไปก็ดี หรือมีเงินเหลืออยู่ภายหลังที่ได้หักชำระค่าฤชาธรรมเนียมและจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ทุกคนเป็นที่พอใจแล้วก็ดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธิหรือส่วนที่เหลือนั้นให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และถ้าทรัพย์สินของบุคคลภายนอกต้องถูกจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้จ่ายเงินรายได้จำนวนสุทธินั้นแก่บุคคลภายนอกตามสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ตามคำพิพากษา
     ถ้าได้จำหน่ายสังหาริมทรัพย์รายใดไปแล้วตามมาตรา ๒๘๘ และได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นคุณแก่ผู้เรียกร้อง ให้ศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินที่จำหน่ายได้แก่ผู้เรียกร้องไป
     มาตรา ๓๒๓ บรรดาเงินต่างๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น