ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ลักษณะ ๒
ศาล

หมวด ๑
เขตอำนาจศาล

     มาตรา ๒ ห้ามมิให้เสนอคำฟ้องต่อศาลใด เว้นแต่
     (๑) เมื่อได้พิจารณาถึงสภาพแห่งคำฟ้องและชั้นของศาลแล้ว ปรากฏว่า ศาลนั้นมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย พระ
ธรรมนูญศาลยุติธรรม และ
     (๒) เมื่อได้พิจารณาถึงคำฟ้องแล้ว ปรากฏว่าคดีนั้นอยู่ในเขตศาลนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยศาลที่จะรับคำฟ้อง และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดเขตศาลด้วย
     มาตรา ๓ เพื่อประโยชน์ในการเสนอคำฟ้อง
     (๑) ในกรณีที่มูลคดีเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทยที่อยู่นอกราชอาณาจักรให้ศาลแพ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
     (๒) ในกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร
     (ก) ถ้าจำเลยเคยมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใดในราชอาณาจักรภายในกำหนดสองปีก่อนวันที่มีการเสนอคำฟ้อง ให้ถือว่าที่นั้นเป็นภูมิลำเนาของจำเลย
     (ข) ถ้าจำเลยประกอบหรือเคยประกอบกิจการทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือตัวแทน หรือโดยมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ติดต่อในการประกอบกิจการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าสถานที่ที่ใช้หรือเคยใช้ประกอบกิจการหรือติดต่อดังกล่าว หรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของตัวแทนหรือของผู้ติดต่อในวันที่มีการเสนอคำฟ้องหรือภายในกำหนดสองปีก่อนนั้น เป็นภูมิลำเนาของจำเลย
     มาตรา ๔ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
     (๑) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
     (๒) คำร้องขอ ให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
     มาตรา ๔ ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
     มาตรา ๔ ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
     คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้
     มาตรา ๔ จัตวา คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย
     ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
     มาตรา ๔ เบญจ คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในเขตศาล
     มาตรา ๔ ฉ คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิก จัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักรก็ดี ซึ่งมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและผู้ร้องไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราช อาณาจักรให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในเขตศาล
     มาตรา ๕ คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้
     มาตรา ๖ ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลที่โจทก์ได้ยื่นคำฟ้องไว้ขอให้โอนคดีไปยังศาลอื่นที่มีเขตอำนาจได้ คำร้องนั้นจำเลยต้องแสดงเหตุที่ยกขึ้นอ้างอิงว่าการพิจารณาคดีต่อไปในศาลนั้นจะไม่สะดวก หรือจำเลยอาจไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นก็ได้
     ห้ามมิให้ศาลออกคำสั่งอนุญาตตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่ศาลที่จะรับโอนคดีไปนั้นได้ยินยอมเสียก่อน ถ้าศาลที่จะรับโอนคดีไม่ยินยอม ก็ให้ศาลที่จะโอนคดีนั้นส่งเรื่องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาด คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๗ บทบัญญัติในมาตรา ๔ มาตรา ๔ ทวิ มาตรา ๔ ตรี มาตรา ๔ จัตวา มาตรา ๔ เบญจ มาตรา ๔ ฉ มาตรา ๕ และมาตรา ๖ ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติดังต่อไปนี้
     (๑) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอภายหลังเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
     (๒) คำฟ้องหรือคำร้องขอที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำ สั่งของศาลซึ่งคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การ บังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้องนั้น ให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา ๓๐๒
     (๓) คำร้องตามมาตรา ๑๐๑ ถ้าได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดแล้วให้เสนอต่อศาลนั้น ในกรณีที่ยังไม่ได้เสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใด ถ้าพยานหลักฐานซึ่งจะเรียกมาสืบหรือบุคคลหรือทรัพย์หรือสถานที่ที่จะต้อง ตรวจอยู่ในเขตศาลใด ให้เสนอต่อศาลนั้น
     (๔) คำร้องที่เสนอให้ศาลถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือการอนุญาตที่ศาลได้ให้ ไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลถอดถอนบุคคลใดจากฐานะที่ศาลได้แต่งตั้งไว้ก็ดี คำร้องที่เสนอให้ศาลมีคำสั่งใดที่เกี่ยวกับการถอนคืนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง หรือการอนุญาตหรือที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งเช่นว่านั้นก็ดี คำร้องขอหรือคำร้องอื่นใดที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งไปแล้วก็ดี ให้เสนอต่อศาลในคดีที่ได้มีคำสั่งการอนุญาต การแต่งตั้ง หรือคำพิพากษานั้น
     มาตรา ๘ ถ้าคดีสองเรื่องซึ่งมีประเด็นอย่างเดียวกัน หรือเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกันอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีเขตอำนาจ สองศาลต่างกัน และศาลทั้งสองนั้นได้ยกคำร้องทั้งหลายที่ได้ยื่นต่อศาลขอให้คดีทั้งสองได้ พิจารณาพิพากษารวมในศาลเดียวกันนั้นเสียตราบใดที่ศาลใดศาลหนึ่งยังมิได้ พิพากษาคดีนั้น ๆ คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาล อุทธรณ์ เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ศาลใดศาลหนึ่งจำหน่ายคดีซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณานั้น ออกเสียจากสารบบความ หรือให้โอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งก็ได้แล้วแต่กรณี
     คำสั่งใด ๆ ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด
     มาตรา ๙ ในกรณีดังกล่าวในมาตราก่อนนั้น ถ้าศาลใดศาลหนึ่งได้พิพากษาคดีแล้ว และได้มีการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษานั้น คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ขอให้มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์นั้นไว้ก่อนจนกว่าอีกศาลหนึ่งจะได้พิพากษาคดีอีกเรื่องหนึ่งเสร็จแล้วก็ได้ และถ้าได้มีการอุทธรณ์คดีเรื่องหลังนี้ก็ให้ศาลอุทธรณ์รวมวินิจฉัยคดีทั้งสองนั้นโดยคำพิพากษาเดียวกัน ถ้าคดีเรื่องหลังนั้นไม่มีอุทธรณ์ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๔๖
     มาตรา ๑๐ ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้ และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น