ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ภาค ๑
บททั่วไป

ลักษณะ ๑
บทวิเคราะห์ศัพท์

     มาตรา ๑ ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
     (๑) “ศาล” หมายความว่า ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษาที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง
     (๒) “คดี” หมายความว่า กระบวนพิจารณานับตั้งแต่เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครอง
บังคับตามหรือเพื่อการใช้ซึ่งสิทธิหรือหน้าที่
     (๓) “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือ ไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้น หรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
     (๔) “คำให้การ” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ นอกจากคำแถลงการณ์
     (๕) “คำคู่ความ” หมายความว่า บรรดาคำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องทั้งหลายที่ยื่นต่อศาลเพื่อตั้งประเด็นระหว่างคู่ความ
     (๖) “คำแถลงการณ์” หมายความว่า คำแถลงด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งกระทำหรือยื่นต่อศาล ด้วยมุ่งหมายที่จะเสนอความเห็นต่อศาลในข้อความในประเด็นที่ได้ยกขึ้นอ้างในคำคู่ความหรือในปัญหาข้อใดที่ศาลจะพึงมีคำสั่งหรือคำพิพากษา ซึ่งในข้อเหล่านี้คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่แสดง หรือกล่าวทบทวนหรือยืนยันหรืออธิบายข้อความแห่งคำพยานหลักฐาน และปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวง คำแถลงการณ์อาจรวมอยู่ในคำคู่ความ
     (๗) “กระบวนพิจารณา” หมายความว่า การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาล หรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้
     (๘) “การพิจารณา” หมายความว่า กระบวนพิจารณาทั้งหมดในศาลใดศาลหนึ่งก่อนศาลนั้นชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดีโดยคำพิพากษาหรือคำสั่ง
     (๙) “การนั่งพิจารณา” หมายความว่า การที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีเช่น ชี้สองสถาน สืบพยาน ทำการไต่สวน ฟังคำขอต่าง ๆ และฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจา
     (๑๐) “วันสืบพยาน” หมายความว่า วันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยาน
     (๑๑) “คู่ความ” หมายความว่า บุคคลผู้ยื่นคำฟ้อง หรือถูกฟ้องต่อศาล และเพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินกระบวนพิจารณาให้รวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำ การแทนบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความ
     (๑๒) “บุคคลผู้ไร้ความสามารถ” หมายความว่า บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีความสามารถตามกฎหมายหรือความสามารถถูกจำกัดโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ
     (๑๓) “ผู้แทนโดยชอบธรรม” หมายความว่า บุคคลซึ่งตามกฎหมายมีสิทธิที่จะทำการแทนบุคคลผู้ไร้ความสามารถหรือเป็นบุคคลที่จะต้องให้คำอนุญาต หรือให้ความยินยอมแก่ผู้ไร้ความสามารถในอันที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
     (๑๔) เจ้าพนักงานบังคับคดี หมายความว่า เจ้าพนักงานในสังกัดกรมบังคับคดีหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้อยู่ ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ปฏิบัติการแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น