ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หมวด ๒
ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ส่วนที่ ๑
บทวิเคราะห์

      มาตรา ๑๐๒๕ อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด

ส่วนที่ ๒
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง

      มาตรา ๑๐๒๖ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
      สิ่งที่นำมาลงด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้
      มาตรา ๑๐๒๗ ในเมื่อมีกรณีเป็นข้อสงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่าเท่ากัน
      มาตรา ๑๐๒๘ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้น และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้ ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้า หุ้นในการนั้น
      มาตรา ๑๐๒๙ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งเอาทรัพย์สินมาให้ใช้เป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดีท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยเช่าทรัพย์
      มาตรา ๑๐๓๐ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้ ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยซื้อขาย
      มาตรา ๑๐๓๑ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลยท่านว่า ต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมาภายในเวลาอันสมควร มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมากด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้
      มาตรา ๑๐๓๒ ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการ นอกจากด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
      มาตรา ๑๐๓๓ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทำสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
      ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน
      มาตรา ๑๐๓๔ ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นจักให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนไซร้ ท่านให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลงหุ้นด้วยมากหรือน้อย
      มาตรา ๑๐๓๕ ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
      มาตรา ๑๐๓๖ อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นยินยอมพร้อมกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
      มาตรา ๑๐๓๗ ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน นอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชี และเอกสารใด ๆ ของหุ้นส่วนได้ด้วย
      มาตรา ๑๐๓๘ ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ
      ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
      มาตรา ๑๐๓๙ ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับจัดการงานของตนเองฉะนั้น
      มาตรา ๑๐๔๐ ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
      มาตรา ๑๐๔๑ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่บางส่วนก็ดีให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกนั้นจะกลายเป็นเข้าหุ้นส่วนด้วยก็หามิได้
      มาตรา ๑๐๔๒ ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน
      มาตรา ๑๐๔๓ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้จัดการกระทำล่วงขอบอำนาจของตนก็ดี ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง
      มาตรา ๑๐๔๔ อันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คนนั้นย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น
      มาตรา ๑๐๔๕ ถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดไว้แต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอา เท่าไร หรือกำหนดแต่เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วนกำไรและส่วนขาดทุนเป็น อย่างเดียวกัน
      มาตรา ๑๐๔๖ ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหามีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
      มาตรา ๑๐๔๗ ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนอยู่ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้
      มาตรา ๑๐๔๘ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่น ๆแม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้

ส่วนที่ ๓
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก

      มาตรา ๑๐๔๙ ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่
      มาตรา ๑๐๕๐ การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
      มาตรา ๑๐๕๑ ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป
      มาตรา ๑๐๕๒ บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
      มาตรา ๑๐๕๓ ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่
      มาตรา ๑๐๕๔ บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน
      ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กอง ทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใด ๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่

ส่วนที่ ๔
การเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ

      มาตรา ๑๐๕๕ ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งกล่าวต่อไปนี้
      (๑) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
      (๒) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
      (๓) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
      (๔) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ตามกำหนดดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๖
      (๕) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
      มาตรา ๑๐๕๖ ถ้าห้างหุ้นส่วนได้ตั้งขึ้นไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ท่านว่าจะเลิกได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปี ในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหก เดือน
      มาตรา ๑๐๕๗ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ
      (๑) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง
      (๒) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก
      (๓) เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
      มาตรา ๑๐๕๘ เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ซึ่งตามความในมาตรา ๑๐๕๗ หรือมาตรา ๑๐๖๗ เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้น ส่วนได้ไซร้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วน แทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้
       ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างห้างหุ้นส่วนกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถูกกำจัดนั้น ท่านให้ตีราคาทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามราคาที่เป็นอยู่ในเวลาแรกยื่นคำร้องขอให้กำจัด
       มาตรา ๑๐๕๙ ถ้าเมื่อสิ้นกำหนดกาลซึ่งได้ตกลงกันไว้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเคยได้จัดการอยู่ในระหว่างกำหนดนั้น ยังคงดำเนินการค้าของห้างหุ้นส่วนอยู่ต่อไปโดยมิได้ชำระบัญชีหรือชำระเงินกันให้เสร็จไปไซร้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งปวงได้ตกลงคงทำการเป็นหุ้นส่วนกันสืบไปโดยไม่มีกำหนดกาล
       มาตรา ๑๐๖๐ ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๕๕ อนุมาตรา ๔ หรืออนุมาตรา ๕ นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปไซร้ ท่านว่าสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน
       มาตรา ๑๐๖๑ เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชีเว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
       ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี ท่านว่าจะงดการชำระบัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย
       การชำระบัญชีนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ
       การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน
       มาตรา ๑๐๖๒ การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดังนี้ คือ
       (๑) ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
       (๒) ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง
       (๓) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
       ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน
       มาตรา ๑๐๖๓ ถ้าเมื่อได้ชำระหนี้ซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอกและชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายแล้ว สินทรัพย์ที่ยังอยู่ไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนให้ครบจำนวนที่ลงหุ้นไซร้ส่วนที่ขาดนี้คือขาดทุน ซึ่งต้องคิดเฉลี่ยช่วยกันขาด

ส่วนที่ ๕
การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ

       มาตรา ๑๐๖๔ อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น จะจดทะเบียนก็ได้
       การลงทะเบียนนั้น ท่านบังคับให้มีรายการดั่งนี้ คือ
       (๑) ชื่อห้างหุ้นส่วน
       (๒) วัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
       (๓) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง
       (๔) ชื่อและที่สำนักกับทั้งอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คน ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมีชื่อยี่ห้อ ก็ให้ลงทะเบียนทั้งชื่อและยี่ห้อด้วย
       (๕) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ในเมื่อได้ตั้งแต่งให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงบางคน
       (๖) ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการประการใดให้ลงไว้ด้วย
       (๗) ตราซึ่งใช้เป็นสำคัญของห้างหุ้นส่วน
       ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่น ๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบด้วยก็ได้
       การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย
       ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้นฉบับหนึ่ง
       มาตรา ๑๐๖๔/๑ หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นนั้น
       ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้น ส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งผู้จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น
       หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
       มาตรา ๑๐๖๔/๒ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
       มาตรา ๑๐๖๕ ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน
       มาตรา ๑๐๖๖ ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
       แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก
       มาตรา ๑๐๖๗ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหา ได้ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ รับเพราะเหตุนั้น
       แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
       อนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นในอันจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วน
       มาตรา ๑๐๖๘ ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
       มาตรา ๑๐๖๙ นอกจากในกรณีทั้งหลายที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๕๕ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนย่อมเลิกกันเมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลาย
       มาตรา ๑๐๗๐ เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้ เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้
       มาตรา ๑๐๗๑ ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๐๗๐ นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า
       (๑) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ
       (๒) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้
       ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้ สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร
       มาตรา ๑๐๗๒ ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใด เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไรหรือ เงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้วเจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้ เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมีในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน

ส่วนที่ ๖
การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเข้ากัน

       มาตรา ๑๐๗๓ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหนึ่งจะควบเข้าเป็นอันเดียวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอีกห้างหนึ่งก็ได้ โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
       มาตรา ๑๐๗๔ เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างใดปลงใจจะควบเข้ากันกับห้างอื่น ห้างหุ้นส่วนนั้นต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่นั้นสองครั้งเป็นอย่าง น้อย และส่งคำบอกกล่าวความประสงค์ที่จะควบเข้ากันนั้นแก่บรรดาผู้ซึ่งห้างหุ้น ส่วนรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใด ในการที่จะทำนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าว
       ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน
       ถ้ามีคัดค้านไซร้ ท่านมิให้ห้างหุ้นส่วนจัดการควบเข้ากัน เว้นแต่จะได้ใช้หนี้ที่เรียกร้องหรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว
       มาตรา ๑๐๗๕ เมื่อห้างได้ควบเข้ากันแล้ว ต่างห้างก็ต่างมีหน้าที่จะต้องนำความนั้นจดลงทะเบียน ว่าได้ควบเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่
       มาตรา ๑๐๗๖ ห้างหุ้นส่วนใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิ ทั้งต้องอยู่ในความรับผิดของห้างหุ้นส่วนเดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น