ภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสเป็นผู้จัดการมรดกได้

4355/2551

         ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่านายละเอียดผู้ตาย และผู้คัดค้านทั้งสี่เป็นบุตรของนายลออกับนางทองขาว ผู้ร้องเป็นภริยาผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรกับผู้ตาย 2 คน คือเด็กหญิงเบญจมาศ กับเด็กชายอรรถพล ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2542 มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 6906 และ 6923 ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน (พระราชวัง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) และรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน บ - 8226 พระนครศรีอยุธยา ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนถึงแก่ความตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายศาลมีคำสั่งตั้งนางทองขาว เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่นางทองขาวถึงแก่ความตายในขณะที่จัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนได้เสียในรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้ตายออกเงินซื้อรถ ยนต์พิพาทจะรับฟังไม่ได้
ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าผู้ร้องแต่งงานอยู่กินฉันสามีภริยาผู้ตายเมื่อปี 2535 และมีบุตรด้วยกัน 2 คน ระหว่างที่อยู่กินด้วยกันผู้ร้องทำงานอยู่ที่บริษัท เจ.วี.ซี. จำกัด ส่วนผู้ตายมีอาชีพทำเครื่องไฟ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ร้องและผู้ตายร่วมกันทำมาหากินและมีเจตนาเป็นเจ้าของใน ทรัพย์ที่หามาได้ระหว่างที่อยู่กินด้วยกัน เมื่อผู้ตายได้รถยนต์พิพาทมาในระหว่างที่อยู่กินกับผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทด้วยในฐานะเจ้าของร่วม ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในรถยนต์ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายและมี สิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการ มรดกตามกฎหมายและผู้ร้องเป็นมารดาของเด็กหญิงเบญจมาศและเด็กชายอรรถพลซึ่ง เป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ของผู้ตาย จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1

          ปล.คดีนี้ผู้ร้องเป็นภริยาของผู้ตายเจ้ามรดกอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียน  ในระหว่างที่อยู่กินร่วมกันได้ร่วมกันซื้อรถยนต์ตามกฎหมายถือว่า "รถยนต์เป็นทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิร่วมกัน"  ฉะนั้นภริยาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียสามารถที่จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของสามี (ผู้ตาย) ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น