ผู้มีหน้าที่จัดงานศพผู้ตาย (เจ้ามรดก)

ฎีกาที่ 1761/2545

         แม้ผู้ตายจะมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดก หรือเป็นผู้จัดการทำศพไว้ หรือทายาทมิได้ตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตายก็ตาม แต่ทายาททุกคนของผู้ตายต่างก็ต้องมีหน้าที่เท่า ๆ กันที่จะต้องจัดการทำศพของผู้ตายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์มาตรา 1649 วรรคสอง เมื่อโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้จัดการทำศพของผู้ตายต้องเสียค่าใช้จ่าย จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทก็จะต้องร่วมรับผิดในค่าใช้จ่ายนี้ด้วยตามบทกฎหมายดังกล่าวนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่ จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดังว่านั้น และวรรคสองบัญญัติว่า ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดก หรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพหรือ ทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือ
โดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจ และตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตาย ไว้ตามลำดับดังนี้ คือผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งไว้ เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งผู้อื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพ ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือผู้จัดการทำศพไว้โดยเฉพาะ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็น จำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการ เช่นนั้น ในเมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างเป็นทายาทโดยชอบธรรมของผู้ตาย ซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน ดังนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามแต่ละคนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิ ได้รับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรมมากที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการศพผู้ตายนั้นไม่ต้องด้วย ความเห็นของศาลฎีกา อนึ่งปรากฏว่าผู้ตายมิได้ตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกหรือให้เป็นผู้ จัดการทำศพ และทายาทผู้ตายก็มิได้มอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพโจทก์จึงมีอำนาจ และหน้าที่ในการจัดการทำศพของผู้ตายตามกฎหมาย เมื่อโจทก์จัดการทำศพผู้ตายไปแล้วย่อมมีสิทธิในอันที่จะเรียกร้องค่าใช้จ่าย ในการจัดการศพจากกองมรดกได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1650 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้น ให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่ระบุไว้ในมาตรา 253(2) แห่งประมวลกฎหมายนี้" การที่โจทก์ได้ใช้จ่ายเงินในการทำศพผู้ตายไปหากไม่เป็นจำนวนเกินสมควรแล้ว โจทก์ย่อมเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิตามบทกฎหมายข้างต้น ประกอบมาตรา 1739(2) จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นทายาทให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนดัง กล่าวตามส่วน แต่รับผิดไม่เกินจากทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับ

         ปล.การจัดงานศพผู้ตาย (เจ้ามรดก) เป็นหน้าที่ของทายาทที่ได้มรดกมากที่สุด หากทายาททุกคนได้รับมรดกเท่าๆกันหน้าที่ในการจัดงานศพจึงตกเป็นของทายาททุกคน ฉะนั้นหากทายาทคนหนึ่งคนใดจัดงานศพและเสียค่าใช้จ่ายการจัดงานศพไป ทายาทผู้จัดงานศพก็สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจากทายาทคนอื่นได แต่ทายาทคนอื่นจะรับผิดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพไม่เกินจากจำนวนทรัพย์มรดกที่ได้รับมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น