แยกกันอยู่แต่ยังไม่หย่าก็ได้มรดก

ฏีกาที่ 3718/2548

          ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 3 คน และผู้ตายมีบุตรกับนางสำเภา เจริญก้อย อีก 4 คน ผู้ร้องแยกกันอยู่กับผู้ตายเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยผู้ร้องไปอยู่กับบุตรที่กรุงเทพมหานคร ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2543 โดยมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกไว้ บิดามารดาผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 1 มาเป็นเวลา 10 ปีเศษ จนถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านที่ 1 สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายกึ่งหนึ่งในระหว่างที่ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้เดียวที่ครอบครองที่ทรัพย์สินทั้งหมดและทราบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกันดังกล่าวของผู้ตายดี ส่วนผู้ร้องไม่รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและ
หนี้สินของผู้ตาย ขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว หรือเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแม้จะแยกกันอยู่ แต่เมื่อยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย จึงไม่สิ้นสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1628 ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย จึงเหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย หากผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์สินของผู้ตายอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาเป็นคดีต่างหากได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้” ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1713 ดังกล่าวหาจำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรงของ ผู้ตายไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อปี 2543 ระหว่างมีชีวิตผู้ตายได้ค้ำประกันหนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ด้วย กรณีเชื่อได้ว่าผู้ตายและผู้คัดค้านที่ 1 มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินของผู้ตายและเป็นผู้ทราบราย ละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตายดี ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์แห่งการจัดทรัพย์สินของผู้ตายและเพื่อประโยชน์แก่ กองมรดกผู้คัดค้านที่ 1 จึงเหมาะสมที่จะร่วมเป็นผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการร่วมกันนั้น ชอบแล้ว

         ปล.สามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายถึงแม้จะแยกกันอยู่  ตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกัน  ยอมเป็นทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสที่เสียชีวิตและมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของคู่สมรสที่เสียชีวิตเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น