ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ภาค ๔
อุทธรณ์ และฎีกา

ลักษณะ ๑
อุทธรณ์

หมวด ๑
หลักทั่วไป

             มาตรา ๑๙๓ คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
            อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ
             มาตรา ๑๙๓ ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
             (๑) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
             (๒) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
             (๓) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
             (๔) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
             มาตรา ๑๙๓ ตรี ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙๓ ทวิ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาล ชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาล อุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดี กรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป
             มาตรา ๑๙๔ ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
             มาตรา ๑๙๕ ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์ แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น
             ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม
             มาตรา ๑๙๖ คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย
             มาตรา ๑๙๗ เหตุที่มีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับหนึ่งแล้วหาเป็นผลตัดสิทธิผู้อื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์ จะอุทธรณ์ด้วยไม่
             มาตรา ๑๙๘ การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
             ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน
             มาตรา ๑๙๘ ทวิ เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยอุทธรณ์ และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น
             เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้
             ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน
             มาตรา ๑๙๙ ผู้อุทธรณ์ต้องขังหรือต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ อาจยื่นอุทธรณ์ต่อพัศดีภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ เมื่อได้รับอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้พัศดีออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ แล้วให้รีบส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลชั้นต้น
             อุทธรณ์ฉบับใดที่ยื่นต่อพัศดีส่งไปถึงศาลเมื่อพ้นกำหนดอายุอุทธรณ์แล้วถ้าปรากฏว่าการส่งชักช้านั้นมิใช่เป็นความผิดของผู้ยื่นอุทธรณ์ ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นภายในกำหนดอายุอุทธรณ์
             มาตรา ๒๐๐ ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์
             มาตรา ๒๐๑ เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป
             มาตรา ๒๐๒ ผู้อุทธรณ์มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้ เมื่อส่งสำนวนไปแล้วให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ทั้งนี้ต้องก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
             เมื่อถอนไปแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์ จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น

หมวด ๒
การพิจารณา คำพิพากษาและคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์

              มาตรา ๒๐๓ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน
              มาตรา ๒๐๔ เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน
              การฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันรับสำนวนถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกินสองเดือน เหตุที่ต้องช้าให้ศาลรายงานไว้
              มาตรา ๒๐๕ คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์
              คำแถลงการณ์เป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันศาลอุทธรณ์พิพากษา
              คำแถลงการณ์ด้วยปากหรือหนังสือก็ตาม มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เท่านั้น
              คำแถลงการณ์เป็นหนังสือจะยื่นต่อศาลชั้นต้นหรือต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้
              มาตรา ๒๐๖ ระเบียบแถลงการณ์ด้วยปากมีดั่งนี้
              (๑) ถ้าคู่ความฝ่ายใดขอแถลงการณ์ ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก
              (๒) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์ ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก
              (๓) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่ ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลง เสร็จแล้วโจทก์แถลงแก้ได้อีก
              มาตรา ๒๐๗ เมื่อมีอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกหรือจับจำเลย ซึ่งศาลนั้นปล่อยตัวไปแล้ว มาขังหรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ก็ได้ หรือถ้าจำเลยถูกขังอยู่ระหว่างอุทธรณ์จะสั่งให้ศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
              มาตรา ๒๐๘ ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ตามหมวดนี้
              (๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม ให้มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเองหรือสั่งศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว ให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
              (๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี
              มาตรา ๒๐๘ ทวิ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควร จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด ในคดีเรื่องใด โดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้
              ที่ประชุมใหญ่ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นประธาน
              การวินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า
             ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ และต้องระบุไว้ด้วยว่าปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้พิพากษาที่เข้าประชุม แม้มิใช่เป็นผู้นั่งพิจารณา ก็ให้มีอำนาจพิพากษา ทำคำสั่ง หรือทำความเห็นแย้งในคดีนั้นได้
             มาตรา ๒๐๙ ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิชักช้า และจะอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ หรือส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้
             มาตรา ๒๑๐ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นในกำหนด ให้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย
             มาตรา ๒๑๑ เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญและคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดยคำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้
             มาตรา ๒๑๒ คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น
             มาตรา ๒๑๓ ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์
             มาตรา ๒๑๔ นอกจากมีข้อความซึ่งต้องมีในคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องปรากฏข้อความดั่งต่อไปนี้ด้วย
             (๑) นามหรือตำแหน่งของผู้อุทธรณ์
             (๒) ข้อความว่า ยืน ยก แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
             มาตรา ๒๑๕ นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมา บังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น