ลูกนอกสมรสมีสิทธิรับมรดก

ฎีกาที่่ 2231/2537

          ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ผู้ตาย จึงเป็นทายาทลำดับ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าเป็นบุตรของผู้ตาย หากรับฟังได้ว่าเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 ก็เป็นทายาทลำดับ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายหรือไม่ ในข้อนี้ผู้คัดค้านที่ 1 มีผู้คัดค้านที่ 1 และนางกาหลงมาเบิกความว่า นางกาหลงอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมานางกาหลงตั้งครรภ์ได้ 3-4 เดือน เกิดปัญหากับผู้ร้องเพราะถูกกีดกันจึงออกไปพักอยู่กับนางทวีและนายหอม พวงสุวรรณ ซึ่งเป็นพี่สาวและพี่เขยของนางกาหลง ต่อมาคลอดผู้คัดค้านที่ 1 ที่บ้านของนายหอม หลังจากคลอดแล้วนางกาหลงยังไปมาระหว่างบ้านของนาย
หอมและบ้านของผู้ตาย ทั้งผู้ตายก็ได้ไปเยี่ยมเยียนผู้คัดค้านที่ 1 ตอนผู้คัดค้านที่ 1 อายุ 3 ปีเศษ นางกาหลงพาผู้คัดค้านที่ 1 ไปคืนให้แก่ผู้ตายแล้วไปทำงานต่างจังหวัดผู้ตายคงให้ผู้คัดค้านที่ 1 อยู่บ้านนายหอม เมื่อผู้คัดค้านที่ 1โตแล้วไปหาผู้ตายที่สวนผู้ตายแนะนำแก่ญาติและเพื่อนบ้านว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้ตาย และออกค่าเล่าเรียนแก่ผู้คัดค้านที่ 1 และมีร้อยตำรวจเอกสุดใจ มังกร ลูกพี่ลูกน้องกับผู้ตายเบิกความว่า มีบ้านอยู่ใกล้กับผู้ตายไปมาหาสู่บ่อยเคยพบผู้คัดค้านที่ 1 อยู่ในที่พักของผู้ตาย ผู้ตายบอกว่าเป็นบุตรของผู้ตาย นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 ยังมีนายฉาง ศรีสุทกมาเบิกความว่า เคยเห็นผู้คัดค้านที่ 1 อยู่ในสวนของผู้ตายสิบกว่าครั้ง ตอนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไปขอค่าเล่าเรียน บางครั้งผู้ตายมีเงินไม่พอได้ขอยืมเงินจากพยานให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ครั้งละ 300 บาทบ้าง 500 บาท บ้าง ประมาณ 3 ครั้ง และได้ความจากนายทอง คณารมย์อดีตประธานฌาปนกิจสงเคราะห์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พยานผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ตอนผู้ตายไปสมัครเป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ ได้ระบุชื่อนางสาวลักขณา พวงสุวรรณ ว่าเป็นบุตรเป็นผู้รับประโยชน์ แต่เนื่องจากนามสกุลของผู้รับประโยชน์ไม่ตรงกับผู้ตาย จึงได้สอบถามผู้ตายตามระเบียบ ผู้ตายก็ยืนยันว่าผู้รับประโยชน์เป็นบุตร ผู้ร้องเองได้เบิกความตอบคำถามค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว พยานได้พาผู้คัดค้านที่ 1 ไปเบิกเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์จากธนาคารแสดงว่าผู้ร้องทราบว่าใบสมัครสมาชิก ฌาปนกิจสงเคราะห์ได้ระบุว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตร นอกจากนี้ในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน ทั้งสองตามเอกสารหมาย ร.10ผู้ร้องก็ยอมรับว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทายาทของผู้ตาย เห็นว่าพฤติการณ์ที่ผู้ตายได้แนะนำผู้คัดค้านที่ 1 ต่อบุคคลอื่นว่าผู้ตายเป็นบิดาของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ให้ความอุปการะเลี้ยงดูส่งเสียเล่าเรียน ทั้งระบุในใบสมัครสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรให้เป็นผู้รับประโยชน์ด้วย เช่นนี้ถือได้ว่าผู้ตายได้รับรองผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรแล้ว แม้การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งศาลมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ย่อมถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิรับมรดก ของผู้ตายซึ่งเป็นบิดาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(1) โดยไม่ต้องจดทะเบียนรับรองและไม่จำต้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานโดยเป็นทายาทลำดับ 1ส่วนผู้ร้องเป็นทายาทลำดับ 3 จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายและถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียใน ทรัพย์มรดกของผู้ตายด้วยผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

          ปล.ในคดีนี้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นลูกของผู้ตายบิดาที่ให้การรับรองตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการให้การรับรองตามกฎหมายจะต้องประกอบไปด้วยพฤติการณ์ต่างๆด้วย อาทิ ให้ใช้นามสกุล แจ้งเกิดให้ ให้การอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสียค่าเล่าเรียน แสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตร เป็นต้น จึงจะทำให้บุตรนอกสมรสมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น