ผู้มีสิทธิรับมรดก

         ลำดับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังมีดังต่อไปนี้

         1.ผู้สืบสันดาน อาทิ บุตรที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน บุตรบุญธรรม บุตรที่บิดา(เจ้ามรดก)จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว หรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดา(เจ้ามรดก)ให้การรับรองแล้ว ส่วนหากมารดาเป็นเจ้ามรดกย่อมเป็นมารดาโดยชอบของบุตรเสมอมีสิทธิรับมรดกโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า "จะเป็นบุตรที่มารดาได้จดทะเบียนสมรสกับบิดาหรือไม่"
         2.บิดามาดา กรณีบิดาจะมีสิทธิที่จะรับมรดกได้จะต้องเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น อาทิ บิดาที่สมรสกับมารดา บิดาที่ได้จดทะเบียนรับเจ้ามรดกเป็นบุตร หรือศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา
         3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน การเป็นทายาทในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวให้ถือเอาตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นพี่น้องที่เกิดกับบิดามารดาที่จดทะเบียนสมรสกันหรือไม่

         4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ความเป็นทายาทในกรณีนี้ก็ให้พิจารณาลักษณะเดียวกันกับกรณีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
         5.ปู่ย่า,ตายาย จะต้องเป็นบุพการีหรือญาติที่สืบสายโลหิตโดยตรงของเจ้ามรดกเท่านั้น อาทิ หากทายาทเป็นปู่ก็ต้องเป็นปู่ที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาเจ้ามรดก หรือหากเป็นทายาทตาก็ต้องเป็นตามที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเจ้ามรดก
         6.ลุง ป้า น้า อา กรณีนี้จะต้องเป็น พี่ชาย พี่สาว น้องชาย หรือน้องสาวของบิดาและมารดาของเจ้ามรดกเท่านั้น ไม่รวมถึง ลุง ป้า น้า อา ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของบิดาและมารดาเจ้ามรดก
          
         กรณีที่คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่ให้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทอื่นดังนี้
  
         1.ถ้าทายาทชั้นผู้สืบสันดานยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ คู่สมรสได้รับมรดกเท่ากันกับชั้นบุตร (ผู้สืบสันดาน)
         2.ถ้าทายาทชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือไม่มีทายาทชั้นผู้สืบสันดาน แต่มีทายาทชั้นบิดามารดา คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง
         3.ถ้าทายาทชั้นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือชั้นลุง ป้า น้า อา ยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ หรือมีทายาทชั้นปู่ย่า,ตายาย คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกสองในสามส่วน
         4.ถ้าไม่มีทายาทในลำดับที่ 1 - 6 เหลืออยู่เลย คู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมดแต่ผู้เดียว
         กรณีที่ทายาทในชั้นที่ใกล้ชิดที่สุดยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายในลำดับหนึ่งๆดังที่ได้ลำดับเอาไว้ข้างต้น ทายาทในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิได้รับมรดก ยกเว้นทายาทในชั้นบิดามารดาของเจ้ามรดกให้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันกับทายาทในชั้นบุตร (ผู้สืบสันดาน) โดยให้ได้รับส่วนเท่ากันกับชั้นบุตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น